หากถามถึงระดับความยากในการเล่นของประเภทกีฬาทั้งหมดว่ามีอะไรบ้าง การยกน้ำหนักคงเป็นหนึ่งในลิสต์นั้น กีฬาประเภทนี้ถ้าร่างกายแข็งแรงไม่มากพอ น้ำหนักของลูกเหล็กไม่บาลานซ์กับน้ำหนักตัว การยกผิดจังหวะที่ไม่ถูกวิธีหรือไม่ถูกท่า ฯลฯ อาจทำให้ผู้เล่นได้รับบาดเจ็บจากส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ เช่นหลัง แขน ข้อศอก บ่า หรือไหล่ ขณะเล่น แต่ถึงจะมีความยากอย่างไร หากผู้เล่นหรือนักกีฬาได้รับการฝึกฝนจากการยกน้ำหนักอย่างถูกวิธี มีความอดทน มีความฝัน มีความตั้งใจฝึกซ้อมอย่างเต็มรูปแบบ ภายใต้การดูแลของโค้ชหรือเทรนเนอร์ที่คอยให้ความรู้ในการยกน้ำหนักอย่างใกล้ชิด ที่พร้อมคำถึงความปลอดภัยอยู่เสมอ หากมีคุณสมบัติข้างต้นบวกกับความตั้งใจจริง การที่จะไปคว้ารางวัลระดับโลกก็คงไม่ใช่เรื่องที่ไกลเกินเอื้อมนัก เหมือนกับ นักยกน้ำหนักหญิง สวยแกร่งหุ่นสตรอง ดีกรีนักกีฬาตัวท็อประดับประเทศ 5 สาวจอมพลังเหล็กนี้
-
ร้อยเอกหญิง ปวีณา ทองสุก
ในวงการนักกีฬาของไทย ไม่มีใครไม่รู้จัก “ไก่” หรือ ร้อยเอกหญิง ปวีณา ทองสุก ที่เป็นอดีตตัวแทนทัพนักกีฬายกน้ำหนักหญิงที่ไปสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศในทุกเวทีการแข่งขันระดับโลก ตั้งแต่ ซีเกมส์, เอเชียนเกมส์, ชิงแชมป์โลก และโอลิมปิก โดยเอาชนะและกวาดเหรียญทองมาได้ทั้งหมดทุกการแข่งขัน ผลงานแรกที่ประสบความสำเร็จและสร้างความภาคภูมิใจให้กับคนในประเทศ คือการคว้าเหรียญทอง ที่ซีเกมส์ ในปี 1997 จากการแข่งขันรุ่นน้ำหนัก 70 กิโลกรัม ต่อมาเธอก็เป็นเจ้าของเหรียญทอง ที่เอเชียนเกมส์ ในปี 2002 และเธอก็ไม่ละความเพียรพยายาม ผงาดคว้าแชมป์โลกหญิงรุ่น 69 กิโลกรัม คนที่ 100 ของโลก ที่ประเทศโปแลนด์ ในปี 2003 จนการแข่งขันล่าสุดเธอตัดสินใจ ลงแข่งขันในรุ่นน้ำหนัก 75 กิโลกรัม ในโอลิมปิกฤดูร้อน 2004 ที่ประเทศกรีซ พร้อมสร้างสถิติใหม่ของโลกด้วยการคว้าเหรียญทอง ในท่าคลีน แอนด์ เจิร์ก ด้วยน้ำหนัก 150 ก.ก. ไปได้อย่างสำเร็จสวยงาม
-
พันตรีหญิง อุดมพร พลศักดิ์
“อร” ผู้เป็นเจ้าของวลีเด็ด “สู้โว้ย” ที่มีชื่อเต็ม ๆ ว่า อุดมพร พลศักดิ์ อดีตนักกีฬายกน้ำหนักทีมชาติไทย ที่ถูกยกให้เป็น “ตำนาน” อีกหนึ่งคนในวงการกีฬาไทย จอมพลังสาวจากเมืองย่าโมคนนี้ได้ไปลงแข่งขันใน เอเชียนเกมส์ ครั้งที่ 13 ที่ไทย ในปี 1998 ถือเป็นแมทซ์เปิดตัวที่ลงแข่งขันในพิกัด 48 กิโลกรัมหญิง โดยที่ไม่เคยผ่านการแข่งขันในซีเกมส์มาก่อน แต่แล้วก็พลาดท่าให้กับ ศรี อินดริยาน่า จึงทำให้เธอตกไปอยู่อันดับที่ 4 ของโลกไปด้วยสาเหตุที่ว่าน้ำหนักตัวที่มากกว่าคู่แข่ง 0.8 กิโลกรัม แต่ผลงานอันโดดเด่นก็เห็นจะเป็นการได้เป็นเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกจากการแข่งขันโอลิมปิก ที่กรุงเอเธนส์ ในปี 2004 ในการแข่งขันยกน้ำหนัก รุ่นไม่เกิน 53 กิโลกรัม โดยยกในท่าสแนชได้ 97.5 กิโลกรัม ท่าคลีนแอนด์เจิร์กได้ 125 กิโลกรัม รวม 222.5 กิโลกรัม พร้อมทำลายสถิติในท่าคลีนแอนด์เจิร์กด้วย
-
ร้อยเอกหญิง ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล
“เก๋” ร้อยเอกหญิง ประภาวดี เจริญรัตนธารากูล นักกีฬายกน้ำหนักหญิงดาวรุ่ง ที่มาพร้อมกับผลงานที่ดีที่สุดในปี 2000’s ที่เรื่องราวความสำเร็จของเธอจะต้องถูกบันทึกไว้เป็นตำนานในเกมกีฬาของไทย เมื่อเธอคว้าเหรียญทองแรกในการแข่งขันมาครองอย่างเฉิดฉาย พร้อมทำลายสถิติใหม่ให้กับโลกด้วยท่าคลีนแอนด์เจิร์ก ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงปักกิ่ง ประเทศจีน ในปี 2008 จากการลงแข่งขันรุ่นน้ำหนัก 53 กิโลกรัม ด้วยท่าสแนตช์ 95 กิโลกรัม และ ท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 126 กิโลกรัม รวมน้ำหนักที่ทำได้ทั้งหมดอยู่ที่ 221 กิโลกรัม แม้ว่าในอดีตเธอจะเคยมีอาการบาดเจ็บจากบริเวณข้อศอกขวาหลุดขณะยกน้ำหนัก จนทำให้ต้องไปพักรักษาตัวใช้เวลานานหลายเดือน ส่งผลให้เธอชวดการแข่งขันไปหลายต่อหลายครั้ง แต่นั่นก็ไม่ใช่อุปสรรคในการพยายามที่จะกลับมาแข่งในเวทีการแข่งขันอื่น ๆ และเธอก็กลับมาแข่งได้อีกครั้งหลังอาการบาดเจ็บดีขึ้น
-
โสภิตา ธนสาร
ถ้าจะบอกว่า “แนน” โสภิตา ธนสาร จอมพลังสาวไทยจากชุมพร ผู้เป็นหนึ่งในนักกีฬาไทยที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดในระดับโลกก็คงจะไม่เกินจริงนัก เพราะเธอได้สร้างชื่อเสียงให้กับตัวเองและคนไทยทั้งประเทศด้วยการคว้าเหรียญทองในโอลิมปิกเกมส์ ที่กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2016 ในรุ่นฟลายเวต 48 กิโลกรัม จากเดิมที่เคยเล่นอยู่ในรุ่น 53 กิโลกรัม ซึ่งหลังจากเปิดการแข่งขันอย่างเป็นทางการเพียงวันเดียว เธอก็ทำน้ำหนักจากการยกไป 2 ครั้ง คือ ท่าสแนตช์ 92 กิโลกรัม และท่าคลีนแอนด์เจิร์ก 108 กิโลกรัม รวมกันได้ 200 กิโลกรัม นับเป็นเหรียญทองแรกและเหรียญรางวัลเหรียญแรกของนักกีฬาไทยในการแข่งขันครั้งนี้ ปลดล็อกคว้าเหรียญทองแรกกับการเป็นตัวแทนนักกีฬาไทยในรอบ 8 ปี ทันทีหลังจากการชวดเหรียญรางวัล ที่ลอนดอนเกมส์ ในปี 2012
-
สุกัญญา ศรีสุราช
สุกัญญา ศรีสุราช หรือ ฝ้าย จอมพลังยกน้ำหนักสาวชลบุรี ที่มีผลงานการแข่งขันในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกเกมส์ โดยการคว้าไปทั้งหมด 5 เหรียญทอง แต่ถ้านับรวมกับการได้เหรียญในการโอลิมปิกเกมส์ทุกสมัยที่มีการแข่งขัน นี่ก็ถือเป็นเหรียญที่ 9 แล้วสำหรับในวงการกีฬายกน้ำหนักไทย ซึ่งการได้เหรียญทองก็ไม่ใช่ความภูมิใจอันหนึ่งเดียวที่เธอมี เพราะกว่าจะมีวันนี้เธอผ่านการแข่งขันและได้รับรางวัลมาอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นการเป็นเจ้าของเหรียญเงิน 3 เหรียญในการยกน้ำหนักสโมสรชิงชนะเลิศแห่งเอเชียประเทศเกาหลีเหนือ เมื่อปี 2013 หรือจะเป็นการแข่งขันซีเกมส์ ครั้งที่ 27 ที่ประเทศเมียนมา ปี 2556 ก็ทำผลงานคว้าไปอีก 1 เหรียญทอง แต่ผลงานล่าสุดคือการคว้าเหรียญทอง ที่ กรุงริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ปี 2006 ในการแข่งขันในรุ่น 58 กิโลกรัม จากการยก 2 ท่า ท่าสแนตช์ ยกได้110 กิโลกรัม ก่อนที่จะยกคลีนแอนด์เจิร์กตามมาที่ 130 กิโลกรัม ทำน้ำหนักรวม 240 กิโลกรัม นอกจากจะได้ 1 เหรียญทองกลับบ้านแล้วยังทำลายสถิติโอลิมปิกเกมส์ ของ ลี เซียว ยิง จอมพลังสาวจากจีนไปอย่างราบคาบ
การยกน้ำหนักเพื่อการออกกำลังกายสำหรับคนธรรมดาทั่วไปก็จะอยู่ในรูปแบบของเวทเทรนนิ่ง ที่คนธรรมดาอย่างเรา ๆ สามารถทำตามได้จากคลิปหรือรูปภาพบนสื่อโซเชียลต่าง ๆ แต่ถ้าคุณเป็นมือใหม่และต้องการที่จะฝึกเพื่อไปแข่งขันอย่างเต็มรูปแบบ เช่น การแข่งขันระดับโลกในโอลิมปิก เหมือนที่ 5 นักยกน้ำหนักหญิงชาวไทยไปแข่งแบบที่ต้องยกลูกเหล็กหลาย ๆ กิโลกรัม มีน้ำหนักมาก ๆ อย่าง 80+ กิโลกรัมขึ้นไป เพื่อไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บหรืออันตรายขณะเล่น ผู้เล่นควรทำโดยอยู่ในการดูแลของโค้ชที่มีประสบการณ์ทางด้านนี้จะดีที่สุด
เหตุผลที่ “โตเกียว โอลิมปิก 2020” ไม่มีนักกีฬาไทยเข้าแข่งยกน้ำหนัก
หลังจากการแข่งขัน โตเกียว โอลิมปิก 2020 ที่ถูกจัดขึ้นระหว่างวันที่ 23 ก.ค. 2021 – 8 ส.ค. 2021 นั้นได้จบลงไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เชื่อว่าแฟนกีฬาไทยหลายคนอาจมีคำถามระหว่างการแข่งขันว่า นอกจาก กีฬายิงปืน วินด์เซิร์ฟ กอล์ฟ เทควันโด เรือใบ จักรยาน ยิงเป้าบิน ขี่ม้า เทควันโด การแข่งเรือ ยูโด ว่ายน้ำ เทเบิลเทนนิส กรีฑา มวยสากล และแบดมินตัน ที่คนไทยเข้าร่วมการแข่งขัน ทำไมไร้วี่แววของกีฬาประเภทยกน้ำหนัก สำหรับเหตุผลและข้อเท็จจริงที่ว่าทำไมถึงไม่มีทีมยกน้ำหนักไทยเข้าร่วมในโอลิมปิกครั้งนี้ มาร่วมหาคำตอบกับบทความ เหตุผลที่ “โตเกียว โอลิมปิก 2020” ไม่มีนักกีฬาไทยเข้าแข่งยกน้ำหนัก ไปพร้อม ๆ กัน
ดูเหมือนว่าอาจต้องรอไปจนถึงการแข่งขันที่เอเชียนเกมส์ 2022 สำหรับโอกาสของนักยกน้ำหนักไทยที่จะสามารถไปแข่งในเวทีระดับนานาชาติได้อีกครั้ง สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาติ (IWF) ประกาศให้ไทยพักจากการเป็นสมาชิกสหพันธ์เป็นเวลา 3 ปี จนถึงถึงวันที่ 1 เม.ย. 2023 พร้อมปรับเงิน 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็นเงินไทยก็ราว ๆ 6.57 ล้านบาท เนื่องจากตรวจพบสารต้องห้ามในร่างกายของนักกีฬาไทยเป็นจำนวน 9 คน จากการแข่งยกน้ำหนักชิงแชมป์โลกที่เติร์กเมนิสถาน 2018
สารต้องห้ามที่ตรวจพบนั้น เกิดจากการที่นักกีฬาทาเจลแบบพิเศษที่ใช้ทาเพื่อรักษาอาการบาดเจ็บ เมื่อพูดถึงบทลงโทษแล้วถือว่าร้ายแรงพอสมควร ซึ่งคำชี้แจงจากสมาคมยกน้ำหนักประเทศไทยนั้นได้กล่าวว่า นักกีฬาไม่ได้มีความตั้งใจหรือจงใจที่จะกระทำ ไม่ทราบถึงผลการออกฤทธิ์ของเจลที่ใช้เพื่อรักษาอาการบาดเจ็บมาก่อน และไม่ได้เกิดขึ้นจากการกิน หรือ ฉีด อย่างที่นักกีฬาทุกคนพึงระวังอยู่เสมอ อย่างไรก็ตามจากการตัดสินของสหพันธ์ยกน้ำหนักนานาชาตินั้นมีข้อสรุปว่า ไทยมีความผิดจริงต่อการเข้าแข่งขันเมื่อปี 2018 ภายใต้คำตัดสินที่ว่า “ประเทศไทยเลินเล่อพลาดเอง ที่ไม่ให้ความรู้กับนักกีฬามากพอ”
ในท้ายที่สุดก็มีการยื่นอุทรณ์ของสมาคมยกน้ำหนักประเทศไทยต่อศาลอนุญาโตตุลาการทางการกีฬาอีกครั้ง พร้อมจ่ายเงินค่าปรับ ค่าสนับสนุน น้อมรับและเคารพคำตัดสินของศาลกีฬาโลก ซึ่งการลดโทษในครั้งนี้ทำให้ระยะเวลาการถูกจำกัดสิทธิ์ของไทยสิ้นสุดได้ในวันที่ 7 มีนาคม 2022 นั่นหมายความว่าไทยจะสามารถกลับเข้ามามีส่วนร่วมในระดับนานาชาติได้อีกครั้ง แต่ถึงอย่างไรก็ไม่ทันการแข่งขันโอลิมปิกที่กรุงโตเกียว นี่ก็เป็นเหตุผลและข้อเท็จจริงทั้งหมดที่ว่า ทำไมนักกีฬาไทยถึงไม่ได้เข้าร่วมในการแข่งยกน้ำหนักที่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกเกมส์ 2020 ประเทศญี่ปุ่น ในปีล่าสุดนี้
ref :